วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2555

เศรษฐกิจพอเพียง

           

          “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 25 ปี ตั้งแต่ก่อนวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ

             คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติแก่ประชาชน  โดยยึดหลัก “ทางสายกลาง” ท่ามกลางมรสุมเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน  เศรษฐกิจพอเพียงมีความหมายสรุปได้ 5 ประการ ดังนี้
               1. ความพอเพียง  คือ รู้จักพอประมาณ พออยู่ พอมี พอกิน พอใช้ ประหยัด และไม่เบียดเบียนผู้อื่น
               2. ความมีเหตุผล  คือ ตัดสินใจกระทำสิ่งต่าง ๆ  เพื่อให้เกิดความพอเพียงต้องใช้เหตุผล และพิจารณาด้วยความรอบคอบ
               3. การมีภูมิคุ้มกันที่ดี  คือ เตรียมใจให้พร้อมรับผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
               4. การมีความรู้  คือ นำความรู้มาใช้ในการวางแผนและดำเนินชีวิต
               5. การมีคุณธรรม  คือ มีความซื่อสัตย์สุจริต สามัคคี และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน


หลักแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียง

          การพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ การพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลาง  และความไม่ประมาท โดยคำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำ

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

มีหลักพิจารณาอยู่ 5 ส่วน ดังนี้
     1. กรอบแนวคิด เป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ ควรจะเป็น โดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัย และวิกฤต เพื่อ ความมั่นคง และ ความยั่งยืน ของการพัฒนา
     2. คุณลักษณะ เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุกระดับ โดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลาง และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน
     3. คำนิยาม ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย 3 คุณลักษณะ พร้อม ๆ กัน ดังนี้
                 - ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไปโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่นการผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ
                 - ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผลโดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ
                 - การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล
      4. เงื่อนไข การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยทั้งความรู้ และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ
                  - เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผน และความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ
                  - เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
      5. แนวทางปฏิบัติ/ผลที่คาดว่าจะได้รับ จากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ คือ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยี
     



เศรษฐกิจพอเพียงกับทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ

            เศรษฐกิจพอเพียงและแนวปฏิบัติของทฤษฎีใหม่ เป็นแนวทางการพัฒนาที่นำไปสู่ความสามารถในการพึ่งตนเองในระดับต่าง ๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ลดความเสี่ยงเกี่ยวกับความผันแปรของธรรมชาติ อาศัยความพอประมาณและความมีเหตุผล สร้างภูมิคุ้มกันที่ดี มีความรู้ ความเพียร และความอดทน สติ และปัญญา การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และความสามัคคี

            เศรษฐกิจพอเพียงมีความหมายกว้างกว่าทฤษฏีใหม่ โดยที่เศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบแนวคิดที่ชี้บอกหลักการ และแนวทางปฏิบัติของทฤษฎีใหม่ ในขณะที่แนวพระราชดำริเกี่ยวกับทฤษฎีใหม่หรือเกษตรทฤษฏีใหม่ เป็นแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรอย่างเป็นขั้นตอน เป็นตัวอย่างการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมเฉพาะในพื้นที่ที่เหมาะสม

เศรษฐกิจพอเพียง มี 2 รูปแบบ คือ

- เศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน สามารถพึ่งตนเองได้โดยไม่โลภมาก และไม่เบียดเบียนคนอื่น

- เศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า คือ การแลกเปลี่ยนร่วมมือช่วยเหลือกัน เพื่อทำให้ส่วนร่วมได้รับประโยชน์ และนำไปสู่การพัฒนาชุมชนและสังคมให้เจริญอย่างยั่งยืน


เกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นตัวอย่างที่เป็นรูปแบบของการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจด้านการเกษตร แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ

ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 เป็นการทำการเกษตรที่มีระบบการผลิตที่สามารถเลี้ยงตนเองในระดับที่ประหยัด และสามารถช่วยเหลือตนเองได้โดยเริ่มจากการแบ่งพื้นที่ออกเป็น4 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เป็นพื้นที่สระน้ำเพื่อเก็บกักน้ำฝนไว้ใช้ในไร่นาเพื่อปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ส่วนที่ 2 เป็นพื้นที่ปลูกข้าว เพื่อใช้สำหรับการบริโภคในครัวเรือนให้เพียงพอตลอดปี ส่วนที่ 3 เป็นพื้นที่ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชไร่ และอื่น ๆ เพื่อเป็นอาหารและยาสำหรับบริโภคในครัวเรือน เหลือจึงจำหน่ายเป็นรายได้ ส่วนที่ 4 เป็นพื้นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ ถนนหนทาง และโรงเรือนทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 2 เป็นการรวมพลังของเกษตรกรในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ร่วมกันดำเนินการในการผลิต การตลาด การเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา สังคม และศาสนา
 โดยได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ และเอกชน


 ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 3 เป็นการประสานเพื่อจัดหาทุนและแหล่งเงินมาช่วยในการลงทุนและพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยได้รับประโยชน์ร่วมกัน

            ดังนั้น การที่จะเลือกใช้ทฤษฎีใหม่ทั้งทฤษฎีใหม่ขั้นต้น และทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้าในการส่งเสริมเกษตรกรให้เป็นรูปธรรมตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับเกษตรกรแต่ละกลุ่มหรือแต่ละชุมชน จะต้องมีความเข้าใจและยึดหลักการในการบริหารจัดการที่ดิน และน้ำเพื่อการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด


เปรียบเทียบเศรษฐกิจพอเพียงกับทฤษฎีใหม่  

- ความพอเพียงในระดับบุคคลและครอบครัว โดยเฉพาะเกษตรกร เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน เทียบได้กับทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1

 - ความพอเพียงในระดับชุมชนและระดับองค์กร เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ซึ่งครอบคลุมทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 2

 - ความพอเพียงในระดับประเทศ เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ซึ่งครอบคลุมทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 3


คุณธรรมที่ทุกคนควรจะศึกษาและน้อมนำมาปฏิบัติ มี 4 ประการคือ

ประการแรก คือ การรักษาความสัตย์ ความจริงใจต่อตัวเองที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม

ประการที่ 2 คือ การรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเองให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในสัจจะความดีนั้น

ประการที่ 3 คือ ความอดทน อดกลั้น และอดออมที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัตย์สุจริตไม่ว่าด้วยเหตุประการใด

ประการที่ 4 คือ การรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตนเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง
          คุณธรรม 4 ประการนี้ ถ้าแต่ละคนพยายามปลูกฝังและบำรุงให้เจริญงอกงามขึ้นโดยทั่วกันแล้ว จะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุข ความร่มเย็น และมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาให้มั่นคง ก้าวหน้าต่อไปได้ดังประสงค์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น